10 อาการที่พบบ่อยในปลาคาร์ป ปลาคาร์ปป่วย เกิดจากสาเหตุอะไร ?

การเกิดโรคต่าง ๆ ในปลาคาร์ปสมารถสังเกตได้ง่ายจากพฤติกรรมของปลาคาร์ปที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำที่ผิดปกติ นอนนิ่ง ๆ ที่ก้นบ่อ มีแผลต่าง ๆ ตามลำตัว ล้วนเกิดขึ้นมาจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม น้ำที่สกปรกและไม่มีคุณภาพจะอาจจะเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้ามาสู่บ่อปลาคาร์ปของเราได้ แต่ถ้าเราหมั่นสังเกต รู้ทันถึงอาการที่เกิดขึ้นและใช้ยารักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ก็จะสามารถยับยั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ที่สำคัญการกักโรคก่อนนำปลาคาร์ปลงบ่อก็ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าเป็นด่านแรกที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคของปลาคาร์ปที่มากับสมาชิกใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคในระยะยาวได้อีกด้วย


จุดขาว (Ichthyophthirius หรือ Ich)

โรคจุดขาว โดย jpd-nd.com

โรคจุดขาว (Ichthyophthirius หรือ Ich) เป็นโรคที่พบบ่อยในปลาสวยงามและปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งชื่อว่า Ichthyophthirius หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อิ๊ค (Ich) ทำให้เกิดจุดขาวเล็ก ๆ คล้ายเกลือที่ติดอยู่ตามตัวและครีบของปลา มีขนาดประมาณ 0.5 – 1 มิลลิเมตร โดยบางจุดอาจจะขึ้นติดกันจนเป็นแถบสีขาวใหญ่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โรคชนิดนี้จะค่อยๆทำลายผิวหนังของปลา ตัวอ่อนของเชื้อโรคชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยจะหลุดออกจากตัวปลาและจมลงสู่ก้นบ่อ เมื่อสภาวะน้ำที่สกปรกก็จะแบ่งเซลล์ตัวอ่อนออกมาเป็นจำนวนมากและเกาะตัวปลาต่อไป ปลาที่เป็นโรคจุดขาวจะมีอาการซึมลงในช่วงแรก ครีบและหางจะหุบตัว ว่ายน้ำแกว่งไปมาและพยายามเอาลำตัวถูกับพื้น ข้างบ่อ ถ้าเป็นหนักจะมีอาการหยุดกินอาหาร หรือหายใจแรง

วิธีการรักษา เปลี่ยนน้ำในบ่อประมาณ 50% และดูดเศษอาหารที่ตกค้างออก ใส่เกลือเพื่อฆ่าเชื้อ ใช้ยาประเภทมาลาไคต์กรีน หรือ ฟอร์มาลินเพื่อรักษาและฆ่าปรสิต


เชื้อรา (Fungal Infection)

เชื้อรา โดย jbl.de

เชื้อรากลุ่ม Saprolegnia มักพบบ่อยบริเวณผิวหนัง ครีบ และบริเวณที่มีบาดแผล มีลักษณะเป็นปุยสีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลติดตามตัว เชื้อราประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อปลาคาร์ปอ่อนแอมีบาดแผล ส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะผิวหนังด้านนอก แต่ยกเว้น Aphanomyces ที่สามารถแทรกเส้นใยเชื้อราเข้าไปในกล้ามเนื้อของปลาและทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ จะต้องแยกปลาที่ติดเชื้อราออกจากบ่อก่อน เพราะอาจจะทำให้ติดปลาตัวอื่น ๆ ได้ เพราะเชื้อราเหล่านี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิ 25 – 28 องศาเซลเซียล และมีวงจรชีวิต 1 – 2 วันเท่านั้นการรักษาอย่างรวดเร็วก็สามารถยับยั้งไม่ให้ติดเชื้อราอย่างรุนแรงได้

วิธีการรักษา ใส่เกลือ แช่ปลาด้วยน้ำที่ผสม มาลาไคต์กรีน หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต


แผลเปื่อย (Ulcer Disease)

โรคแปลเปื่อย โดย koikoito.com

โรคแผลเปื่อย (Ulcer Disease)ในช่วงแรกอาการจะไม่ค่อยแสดงออกมากเท่าไร แต่เชื้อจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัว สามารถพบได้หลายชนิด เช่น Aeromonas หรือ Pseudomonas โดยอาการที่เห็นได้ชัดจะมีแผลแดงที่ผิวหนัง หรือเป็นสีขาวขุ่น อาจจะลุกลามเป็นแผลลึก ลุกลามไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ จนบางตัวครีบหดหายไปจะทำให้ปลาตายในที่สุด ปลาที่เป็นโรคแผลเปื่อยจะมีอาการเซืองซึมและกินอาหารน้อยลงหรืออาจจะหยุดกินอาหารไปเลย หากแผลลุกลามอาจจะส่งผลให้อวัยวะภายในติดเชื้อได้ด้วย เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดเชื้อออกจากบ่อหลัก ใส่เบตาดีนเพื่อฆ่าเชื้อที่แผลโดยตรง ให้ยาปฏชีวะนะ โดยผสมลงในอาหารหรือละลายในน้ำ ปรับปรุงคุณภาพให้ได้ตามความเหมาะสม และเปลี่ยนน้ำบางส่วน


ตกเลือด (Hemorrhagic Septicemia)

โรคตกเลือด โดย koiphen.com

โรคตกเลือด (Hemorrhagic Septicemia) เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้กับปลาน้ำจืดทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นปลาทองหรือปลาคาร์ป มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียแกรมลบที่มีชื่อว่า Aeromonas hydrophila จะอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพต่ำ เชื้อโรคเยอะ ซึ่งการตกเลือดของปลาจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การตกเลือดแบบทั่วไป การตกเลือดแบบติดเชื้อ และการตกเลือดแบบเรื้อรัง โดยมีลำตัวตกเลือด ท้องบวมน้ำ เกล็ดตั้งพอง เนื้อแหว่ง ถ้าเป็นมากอาจจะมีแผลเน่าตามลำตัว ถ้าไม่รับรักษาอาจจะทำให้ปลาตายได้

วิธีการรักษา รักษาคุณภาพน้ำ ลดความเครียดของปลา ใช้ ออกซีเตตราไซคลิน หรือ อิริโธรมัยซิน ผสมในอาหาร


จุดแดง (Red Spot Disease)

โรคจุดแดง โดย koiphen.com

โรคจุดแดง (Red Spot Disease) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียหรือการบาดเจ็บ ซึ่งพบได้บ่อยในปลาคาร์ป โดยมักแสดงอาการเป็นจุดแดงบนผิวหนัง บริเวณที่ติดเชื้ออาจจะมีเลือดซึม อาจลุกลามเป็นแผลเปื่อยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของปลา ทำให้ปลาเซืองซึม ว่ายน้ำผิดปกติ หรือหยุดกินอาหารไปเลย และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ สาเหตุหลักเกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม Aeromonas และ Pseudomonas ที่เจริญเติบโตได้ในในน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลสะสม

วิธีการรักษา สามารถรักษาได้หลายวิธี ถ้าเป็นแผลเฉพาะที่สามารถใช้เบตาดีนลงที่แผลเพื่อฆ่าเชื้อได้เลย ใช้ด่างทับทิม หรือ ฟอร์มาลิน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับฆ่าเชื้อในน้ำ หรือถ้ามีอาการมากใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารให้ปลากิน


เห็บปลา (Fish Lice)

เห็บปลา โดย jbl.de

โรคเห็บปลา (Fish Lice) พบเห็นได้บนตัวปลาด้วยตาเปล่า สามารถใช้แหนบ หรือ มือดึงออกได้ เกิดจากปรสิต Argulus spp. ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู ต่าง ๆ มีความยาวตั้งแต่ 6 – 12 มิลลิเมตร เกาะแน่นบริเวณลำตัว ครีบ และหางปลา เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด จะเกาะดูเลือด กินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร ปลาที่มีเห็บปลาเกาะอยู่จะมีอาการว่ายน้ำอย่างกระวนกระวาย เอาตัวถูกับตู้หรือบ่อ ส่วนใหญ่เห็บปลามักจะมาจากปลาใหม่ แนะนำให้แยกปลาใหม่กักโรคไว้ก่อน แล้วค่อยลงบ่อใหญ่ จะช่วยลดการเกิดเห็บปลาและปรสิตชนิดอื่นๆได้

วิธีการรักษา ดูและรักษาบาอปลาให้สะอาด ใช้ไตรโคลฟอน (Trichlorfon) กำจัดปรสิต หรือ คอปเปอร์ซัลเฟต 60 ppm ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมงให้อากาศเต็มที่แล้วปล่อยลงบ่อเลี้ยง


หนอนสมอ (Anchor Worm)

หนอนสมอ โดย researchgate.net

โรคหนอนสมอ (Anchor Worm) เป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปหลาย ๆ ท่าน เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้ปลาของเราแล้ว ยังเป็นพาหะที่ทำให้ปลาคาร์ปของเราติดเชื้อแทรกซ้อนต่าง ๆ และส่งผลลบต่อสุขภาพโดยรวมของปลาคาร์ปได้อีกด้วย โรคหนอนสมอ (Anchor Worm) เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตชนิดหนึ่งในกลุ่ม Lernaea spp. เป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยในปลาคาร์ปและปลาชนิดอื่นๆ มีลักษณะคล้ายกับเส้นด้าย ลำตัวบางยาว ส่วนหัวจะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังเพื่อดูดเลือดและสารอาหาร ทำให้บริเวณนั้น ๆ มีบาดแผลและเลือดซึมอยู่ตลอดเวลา ดูเหมือนรอยช้ำ และจะมีอาการซึมลง ไม่กินอาหาร ปลาอ่อนแรงและอาจจะติดเชื้อแทรกซ้อน

วิธีการรักษา ใช้แหนบดึงหนอนสมอออกจากตัวปลาอย่างระมัดระวัง ทำความสะอาดแผลด้วยเบตาดีน ใช้ยาที่กำจัดปรสิตภายในน้ำ หากปลาที่มีแผลเปื่อยหรือติดเชื้อแทรกซ้อน ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีตราไซคลิน ผสมในอาหาร


พยาธิภายใน (Internal Parasites)

โรคพยาธิภายในที่ทำให้ร่างกายของปลาผิดปกติ โดย marinescience

โรคพยาธิใน (Internal Parasites) ในปลาคาร์ป เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของพยาธิที่อยู่ระภายในระบบทางเดินอาหารหรืออวัยวะภายใน เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ตับ หรือ ไต พยาธิเหล่านี้อาจะเป็นได้ทั้งโปรโตซัว หรือ พยาธิหนอนตัวกลม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของปลา หากไม่ได้รับการรักษาอาจะทำให้ปลาอ่อนแอลงและตายได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดพยาธิในมีหลายสาเหตุด้วยหัน ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนในอาหาร การติดเชื้อจากน้ำ การติดเชื้อจากปลาใหม่ ในอาการเบื้องต้นของปลาคาร์ปที่ติดพยาธิในจะมีอาการเบื่ออาหาร ผอมลงอย่างเห็นได้ชัด ท้องบวมผิดปกติ รุนแรงกว่านั้นอาจจะว่ายน้ำผิดปกติ อุจจาระยาวและขุ่นคล้ายเส้นเมือก

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดพยาธิออกจากปลาตัวอื่น ๆ เปลี่ยนน้ำบางส่วนและทำความสะอาดบ่อ ใช้ยาถ่ายพยาธิ เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือ พราเซควอนเทล (Praziquantel) โดยผสมในอาหารปลา


ท้องบวม (Dropsy)

ท้องบวม โดย water.co.id

ท้องบวม (Dropsy) มองจากภายนอกผ่าน ๆ อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าปลาของเราตั้งท้อง เพราะส่วนท้องจะบวมออกมา แต่จริง ๆ แล้วเกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายของปลา มักจะเกี่ยวข้องกับการสะสมของเหลวในช่องท้อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Aeromonas และ Pseudomonas เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบภายในของปลา ตับและไตจะทำงานผิดปกติทำให้ปลาไม่สามารถคุมของเหลวในตัวได้ แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้ปลาคาร์ปของเราเป็นโรคท้องบวมได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของน้ำที่มีแอมโมเนียไนไตรต์สูง อาหารที่ปนเปื้อนหรือขาดคุณค่าทางโภชนาการ หรือ การเลี้ยงปลาที่หนาแน่นจนเกินไปก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดเชื้อออกจากบ่อหลักก่อน แล้วคำนวณปริมาตรน้ำในบ่อที่แยกออกมา ในระหว่างรักษาควรงดอาหารเพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการขับถ่าย จากนั้นให้พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อแบบแช่หรือแบบฉีด หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาสัตวแพทย์


เหงือกเปื่อย (Gill Rot)

เหงือกเปื่อย โดย hanoverkoifarms.com

ช่องเหงือกเปื่อย (Gill Rot) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รา หรือปรสิตในบริเวณเหงือกปลา Flavobacterium columnare และ Aeromonas spp. เป็นตัวการหลักที่ทำให้เหงือกอักเสบและเปื่อย รวมไปถึงการติดเชื้อราและปรสิต Saprolegnia, Dactylogyrus ทำให้ประสิทธิภาพในการหายใจลดลง และอาจทำให้ปลาขาดออกซิเจนและเสียชีวิต อาการหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ปลาอ่อนแรง เหงือกเปื่อย หายใจผิดปกติปลาอาจจะขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำบ่อยครั้ง บริเวณเหงือกอาจจะมีเมือกหรือคราบสีขาวสะสม

วิธีการรักษา ระวังคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ใช้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น ออกซีเตตราไซคลิน (Oxytetracycline) หรือ ซัลฟาไดมิดีน (Sulfadimidine) หรือยาฆ่าเชื้อปรสิตต่าง ๆ


เมื่อรับรู้ถึงอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากตัวปลาคาร์ป การรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่าง ๆ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของปลา เมื่อพบปลาคาร์ปที่ติดเชื้อ ในขั้นตอนแรกแนะนำให้แยกปลาที่ติดเชื้อออกมาจากบ่อหลักก่อน เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่นๆในบ่อ จากนั้นค่อยรักษาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลาคาร์ปควรเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด เพราะน้ำที่สกปรกไม่ได้คุณภาพจะเป็นตัวนำเชื้อโรคมาสู่ตัวปลาคาร์ปของเรา และทำให้ปลาคาร์ปติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตได้ หากปลามีอาการผิดปกติ ควรรักษาโดยทันทีเพื่อป้องกันความรุนแรงและการแพร่กระจายของโรค

ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมในการรักษา ให้สอบถามไปยังสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์น้ำใกล้บ้าน หรือ LINE : @koikoito

10 ยารักษาโรคปลาคาร์ป ยาแบบไหน ใช้รักษาอาการตรงจุด?

ในปัจจุบัน การเลี้ยงปลาคาร์ปได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ปลาคาร์ปไม่เพียงแต่มีสีสันสดใสสะดุดตา ยังมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกตามความชอบของผู้เลี้ยง แต่ละสายพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งลวดลายและสีสันที่แตกต่าง มูลค่าของปลาคาร์ปบางตัวนั้นสูงจนสะท้อนความสวยงามของมันได้อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลาคาร์ปที่เรารักเกิดอาการป่วยขึ้นมา ย่อมทำให้เจ้าของรู้สึกกังวลไม่น้อย เพราะโรคในปลาคาร์ปมีหลายชนิด และการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยรักษาอาการป่วยได้อย่างตรงจุด วันนี้ Koikoito ได้รวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับ “10 ยารักษาโรคสำหรับปลาคาร์ป” เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เลี้ยงทุกท่านดูแลปลาคาร์ปของตนเองให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในระยะยาว มาติดตามกันเลย!

ในการใส่ยาควรปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวปลา ไม่ว่าจะเป็น การให้ยาเกินขนาด การให้ยาโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปลาตัวคด ช็อค และอาจทำให้ตายได้


ฟอร์มาลิน (Formalin)

ฟอร์มาลิน (Formalin): เมื่อพูดถึง “ฟอร์มาลิน” หลายคนอาจรู้สึกหวาดกลัวเพราะชื่อเสียงที่มักถูกเชื่อมโยงกับอันตราย แต่ในความเป็นจริง ฟอร์มาลินถือเป็นยาสามัญประจำตู้ของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปหลายคน เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว และ ปรสิต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ที่พบในปลาคาร์ป เช่น:

• โรคปรสิตผิวหนัง

• โรคจุดขาว

• เห็บปลา

• โรคตกเลือดตามซอกเกล็ด

ฟอร์มาลินสามารถใช้รักษาโรคเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

วิธีใช้ฟอร์มาลินอย่างปลอดภัย

1. ปรับสัดส่วนการใช้ให้เหมาะสม:

• ความเข้มข้นของฟอร์มาลินที่ใช้จะขึ้นอยู่กับประเภทของโรค

• ควรชั่งตวงวัดปริมาณอย่างแม่นยำ โดยใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้

2. ข้อควรระวัง:

• ใช้ใน ความเข้มข้นต่ำมาก เท่านั้น เพื่อลดผลกระทบต่อปลา

• ควรใช้ฟอร์มาลินในช่วงเวลาที่มีแสงแดด เพราะแสงแดดช่วยลดความเป็นพิษของฟอร์มาลิน

• ห้ามใช้ ฟอร์มาลินร่วมกับด่างทับทิม (Potassium Permanganate) เด็ดขาด เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อปลา

3. การเก็บรักษา:

• เก็บฟอร์มาลินในภาชนะที่ทึบแสง

• วางไว้ในที่เย็นและมีอากาศถ่ายเทสะดวก

• หลีกเลี่ยงการเก็บในบริเวณที่โดนแสงแดดจัด

4. ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนใช้:

การใช้ฟอร์มาลินจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากไม่มั่นใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของปลา

ฟอร์มาลินอาจดูน่ากลัวในตอนแรก แต่หากใช้อย่างเหมาะสมและอยู่ในข้อจำกัดที่ถูกต้อง มันสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ของปลาคาร์ปได้อย่างดีเยี่ยม

อัตราส่วนที่แนะนำ : 40 (ml, g) ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : อย่าลืมสวมถุงมือและปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยทุกครั้งที่ใช้งาน!


เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin)

เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลามีอาการตัวแดง หางเปื่อย ตัวเปื่อย ครีบหุบ เกล็ดพอง มีเส้นเลือดตามตัวหรือมีแบคทีเรียอื่น ๆ อยู่ในตัว สามารถใช้ยาชนิดนี้รักษาได้ ใช้กำจัดแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram-positive bacteria) และเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ดี โดยออกฤทธิ์ยับยั้ง DNA-gyrase ดูดซึมเร็ว มีความปลอดภัย สะดวกต่อการใช้ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยา Enrofloxacin ในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ผู้เลี้ยงหลายๆท่านก็รู้จักกันดีมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในฟาร์มปลาและฟาร์มกุ้ง สามารถใช้อย่างต่อเนื่องทุกวันจนกว่าอาการป่วยของปลาจะดีขึ้นได้ ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในตัวปลา สามารถใช้ผสมกับน้ำ หรือคลุกผสมกับอาหารให้ปลาคาร์ปรับประทานได้

อัตราส่วนที่แนะนำ : 30 (ml, g) ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : ห้ามสูดดม ห้ามสัมผัสดวงตาและผิวหนังโดยตรง


แอนตี้แบค (Anti Bac)

แอนตี้แบค (Anti Bac) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแผลอักเสบเหงือกอักเสบ ลำตัวเป็นขุย ติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ตกเลือด หรืออาการภายนอกต่าง ๆ สามารถฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรียได้อย่างดีและรวดเร็ว รวมถึงโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากแบคทีเรียอีกด้วย มีฤทธิ์ในวงกว้างฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบคล้าย ๆ กับเอนโรฟลอคซาซิน ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงและเจ้าของฟาร์มต่าง ๆ นิยมนำ แอนตี้แบค (Anti Bac) มาใช้ในการผสมน้ำเพื่อกักโรคปลาก่อนลงบ่อ หรือ ส่งปลาต่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคและรักษาสุขภาพปลาคาร์ป ทำให้ปลาปลอดภัยต่อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่ติดตามตัวมา และยังสามารถใช้ผสมกับอาหารเพื่อให้ปลากินติดต่อกันได้ทุกวันจนกว่าจะหายจากอาการป่วยได้อีกด้วย

อัตราส่วนที่แนะนำ : 10 g ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : เก็บอย่างมิดชิด หลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะอาจจะทำให้ยาเสื่อมสภาพได้

คำแนะนำ : ควรปิด UV ตลอดการรักษา


ทิปกิน (Tipkin)

ทิปกิน (Tipkin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างครอบคลุม (Broad Spectrum) ตัวยาเป็นสีใสไม่มีสี สำหรับปลาที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงก็สามารถใช้ได้ ออกฤทธิ์อย่างสมดุล ไม่ส่งผลข้างเคียงแก่ปลา ไม่ว่าจะมีแผลเปื่อย มีหนอง พุพอง แผลอักเสบอย่างรุนแรง มีเส้นเลือดขึ้นตามตัว ก็สามารถใช้ยาชนิดนี้ฉีดเพื่อรักษาได้ ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อของปลา บริเวณครีบอก สามารถฉีดได้วันเว้นวันจนกว่าปลาจะอาการดีขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง : ไม่ควรฉีดติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์


ด่างทับทิม (Potassium Permanganate)

ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) ชื่อนี้รู้จักกันดี เป็นสารเคมีสีม่วงเข้ม หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป นิยมใช้กันในหลากหลายวงการ เพราะมีสรรพคุณในการต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย สามารถใช้ล้างทำความสะอาดตู้ปลา บ่อปลา อุปกรณ์การเลี้ยงปลา และกำจัดแบคทีเรีย ปรสิต ในตู้ปลา ด้วยการใส่ด่างทับทิมลงไปในน้ำ แล้วแช่ทิ้งไว้ 1 คืน หรือจะแก้อาการป่วยของปลาคาร์ปที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นโรคเห็บปลา ปลาตัวแดง ปลานอนก้นบ่อ รักษาแผลในตัวปลา ก็สามารถใช้ด่างทับทิมในการรักษาได้ โดยการใช้งานจะต้องใช้กับความเข้มข้น 2 – 4 ppm เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

อัตราส่วนที่แนะนำ : 2 g ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : ระวังการใช้ในปริมาณสูงเพราะอาจทำให้ปลาเป็นแผลไหม้


เกลือสมุทร (Sea Salt)

เกลือสมุทร หรือ เกลือทะเล (Sea Salt) เป็นยาสามัญประจำตู้อีกชนิดหนึ่งของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปและปลาสวยงาม สรรพคุณไม่ได้มีแค่ความเค็มเท่านั้น แต่ยังมีระโยชน์ต่อปลาได้อีก เกลือจะช่วยทำให้ปลาคาร์ปของเราปรับสมดุลระหว่างภายในตัวได้ง่ายขึ้น เกลือจะเข้าไปช่วยลดแรงดันของน้ำที่เข้าไปอยู่ในตัวปลา ทำให้ปลามีพลังงานไปใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค หรือ ช่วยลดความเครียดของปลา รวมไปถึงกำจัดปรสิตภายนอก ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด และยังกระตุ้นให้ปลา สร้างเมือก การใช้เกลือกับปลา สามารถใส่ได้ในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ปลาป่วย เปลี่ยนน้ำใหม่ ย้ายปลา และในเวลาที่ปลาปกติจะเป็นการป้องกันปรสิต ซึ่งเกลือสมุทรมีประโยชน์ทั้งแบบ รักษาโรค และ ป้องกันโรค ในเวลาเดียวกัน

อัตราส่วนที่แนะนำ : ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะรักษา ตั้งแต่ 1-7 kg ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : ระวังไม่ใช้ในปริมาณสูงเกินไปเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงความดันออสโมซิสของปลา และเกลือที่ไม่ควรมีสารไอโอดีนเติมเสริมเข้าไป


ไซคลอสเปรย์ (Cyclo Spray)

ไซคลอสเปรย์ (Cyclo Spray) เป็นสเปรย์สำหรับพ่นรักษาบาดแผลภายนอก ป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อของบาดแผลต่างๆ มีส่วนประกอบด้วยตัวยา คลอเตตร้าไซคลิน และ ไฮโดรคลอไรด์ ไม่ว่าจะเป็น แผลสด แผลเปื่อย แผลติดเชื้อ แผลอักเสบ เป็นหนอง และแผลผ่าตัด ควรทำความสะอาดแผลให้เรียบร้อยก่อน ลอกคราบเลือด คราบน้ำเหลือง และเศษเนื้อที่ตายออก จากนั้นฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณบาดแผลที่ต้องการรักษาได้เลย เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์รักษาบาดแผลที่ติดเชื้อได้ดี ปกติแล้วยาชนิดนี้ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะใช้กับสัตว์ใหญ่ แต่กับปลาคาร์ปก็สามารถใช้รักษาแผลเป็นได้เช่นกัน ไม่เป็นอันตรายต่อปลาคาร์ป

ข้อควรระวัง : เป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น เก็บในที่เย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส พ้นจากแสงแดดส่องโดยตรง และเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก


เบตาดีน (Betadine)

เบตาดีน (Betadine) เป็นยาสามัญที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป สามารถใช้ได้กับคนและสัตว์ ใช้ทารักษาแผลบนตัวปลา สามารถใส่ไปที่แผลโดยตรงได้เลย มีสารออกฤธิ์หลักคือโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-Iodine) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคที่หลากหลาย เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส จึงเหมาะสำหรับการรักษาแผลภายนอกของปลา ช่วยเร่งการสมานแผล ทำให้แผลฟื้นตัวเร็วขึ้น เหมาะกับการใช้เฉพาะจุด เช่นบาดแผลจากการบาดเจ็บ หรือ โรคแผลเปื่อย (Ulcer Disease) สามารถใช้ได้ทุกวันจนกว่าแผลจะหายดี

ข้อควรระวัง : เบตาดีนมีฤทธิ์สูง อาจจะทำให้ระคายเคืองหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ไม่ใช้ในบ่อรวมเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อปลาตัวอื่นๆและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงบริเวณตาหรือเหงือของปลา


Para – Cide

Para-Cide เป็นยาสูตรเข้มข้นสำหรับใช้ป้องกัน และกำจัดปรสิตที่เกาะอยู่บนตัวปลาคาร์ป เช่น เห็บปลา ปลิงใส หนอนสมอ รวมไปถึงโรคจุดขาว ถ้าปลาของท่านมีอาการกระโดด ปลาว่ายน้ำแฉลบ ปลาลอยหัว แสดงว่ากำลังมีปรสิตหรือเชื้อโรคต่างๆเกาะตัวอยู่ ก็สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้เลย โดยวิธีใช้จะต้องชั่งตวงอย่างเหมาะสม 1 ml ต่อปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยง 1 ตัน นำยาใส่ขวดเปล่าแล้วใส่น้ำเติมลงไปเพื่อลดความเข้มข้น จากนั้นเทใส่ในช่องกรองของบ่อปลา โดยแบ่งทีละน้อย ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 30 นาที เมื่อครบ 24 ชั่วโมงให้เปลี่ยนน้ำ 20% สามารถใช้สำหรับการกักโรคปลา ก่อนลงปลาใหม่ได้อีกด้วย

อัตราส่วนที่แนะนำ : 1 (ml, g) ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่แนะนำ หลีกเลี่ยงการใส่โดนตัวปลา ใส่บริเวณที่มีออกซิเจนเยอะ ๆ หรือในช่องกรอง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับตัวปลา


Bac – Stop

Bac-Stop ตัวยาสีน้ำเงินผลิตและพัฒนาสูตรโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เหมาะสำหรับปลาคาร์ปและปลาสวยงามทั่วไป มีสรรพคุณป้องกันและกำจัดแบคทีเรีย แผลตามตัว ผื่นแดง แผลเน่า ตกเลือด และแผลติดเชื้อต่างๆ รวมถึงยังสามารถใช้ร่วมกับ Para-Cide ในช่วงกักโรคของปลาใหม่ที่จะลงบ่อได้อีกด้วย ผู้เลี้ยงหลายท่านมักจะนิยมใช้ เรียกว่าเป็นยาสามัญประจำตู้เลยก็ว่าได้เพราะรักษาได้อย่างรวดเร็วและได้ผลดี สามารถใช้ติดต่อกันได้ 7 – 14 วัน แนะนำให้เปลี่ยนน้ำวันละ 20-30% เพื่อลดค่าของเสียในช่วงการรักษา

อัตราส่วนที่แนะนำ : 50 (ml, g) ต่อปริมาตรน้ำ 1 (ลูกบาศก์เมตร, ตัน)

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่แนะนำ ใส่บริเวณที่มีออกซิเจนเยอะ ๆ หรือในช่องกรอง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับตัวปลา


การใช้ยาประเภทต่าง ๆ แนะนำให้ผู้เลี้ยงแยกปลาที่ป่วยออกมาจากบ่อหลัก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ไปติดปลาคาร์ปตัวอื่น ๆ และประหยัดปริมาณยา ไม่กระทบปลาตัวอื่น ๆ แนะนำให้งดอาหารตลอดการรักษา เผื่อลดของเสียจากการขับถ่าย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน การรักษาอาจได้ผลช้ากว่าที่ควร การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องก็มีความสำคัญในการเลือกยา เพราะจะได้รักษาอย่างตรงจุด และจะช่วยให้หายจากอาการป่วย มีสุขภาพแข็งแรง