10 อาการที่พบบ่อยในปลาคาร์ป ปลาคาร์ปป่วย เกิดจากสาเหตุอะไร ?

การเกิดโรคต่าง ๆ ในปลาคาร์ปสมารถสังเกตได้ง่ายจากพฤติกรรมของปลาคาร์ปที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำที่ผิดปกติ นอนนิ่ง ๆ ที่ก้นบ่อ มีแผลต่าง ๆ ตามลำตัว ล้วนเกิดขึ้นมาจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม น้ำที่สกปรกและไม่มีคุณภาพจะอาจจะเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้ามาสู่บ่อปลาคาร์ปของเราได้ แต่ถ้าเราหมั่นสังเกต รู้ทันถึงอาการที่เกิดขึ้นและใช้ยารักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ก็จะสามารถยับยั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ที่สำคัญการกักโรคก่อนนำปลาคาร์ปลงบ่อก็ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าเป็นด่านแรกที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคของปลาคาร์ปที่มากับสมาชิกใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคในระยะยาวได้อีกด้วย


จุดขาว (Ichthyophthirius หรือ Ich)

โรคจุดขาว โดย jpd-nd.com

โรคจุดขาว (Ichthyophthirius หรือ Ich) เป็นโรคที่พบบ่อยในปลาสวยงามและปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งชื่อว่า Ichthyophthirius หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อิ๊ค (Ich) ทำให้เกิดจุดขาวเล็ก ๆ คล้ายเกลือที่ติดอยู่ตามตัวและครีบของปลา มีขนาดประมาณ 0.5 – 1 มิลลิเมตร โดยบางจุดอาจจะขึ้นติดกันจนเป็นแถบสีขาวใหญ่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โรคชนิดนี้จะค่อยๆทำลายผิวหนังของปลา ตัวอ่อนของเชื้อโรคชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยจะหลุดออกจากตัวปลาและจมลงสู่ก้นบ่อ เมื่อสภาวะน้ำที่สกปรกก็จะแบ่งเซลล์ตัวอ่อนออกมาเป็นจำนวนมากและเกาะตัวปลาต่อไป ปลาที่เป็นโรคจุดขาวจะมีอาการซึมลงในช่วงแรก ครีบและหางจะหุบตัว ว่ายน้ำแกว่งไปมาและพยายามเอาลำตัวถูกับพื้น ข้างบ่อ ถ้าเป็นหนักจะมีอาการหยุดกินอาหาร หรือหายใจแรง

วิธีการรักษา เปลี่ยนน้ำในบ่อประมาณ 50% และดูดเศษอาหารที่ตกค้างออก ใส่เกลือเพื่อฆ่าเชื้อ ใช้ยาประเภทมาลาไคต์กรีน หรือ ฟอร์มาลินเพื่อรักษาและฆ่าปรสิต


เชื้อรา (Fungal Infection)

เชื้อรา โดย jbl.de

เชื้อรากลุ่ม Saprolegnia มักพบบ่อยบริเวณผิวหนัง ครีบ และบริเวณที่มีบาดแผล มีลักษณะเป็นปุยสีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลติดตามตัว เชื้อราประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อปลาคาร์ปอ่อนแอมีบาดแผล ส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะผิวหนังด้านนอก แต่ยกเว้น Aphanomyces ที่สามารถแทรกเส้นใยเชื้อราเข้าไปในกล้ามเนื้อของปลาและทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ จะต้องแยกปลาที่ติดเชื้อราออกจากบ่อก่อน เพราะอาจจะทำให้ติดปลาตัวอื่น ๆ ได้ เพราะเชื้อราเหล่านี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิ 25 – 28 องศาเซลเซียล และมีวงจรชีวิต 1 – 2 วันเท่านั้นการรักษาอย่างรวดเร็วก็สามารถยับยั้งไม่ให้ติดเชื้อราอย่างรุนแรงได้

วิธีการรักษา ใส่เกลือ แช่ปลาด้วยน้ำที่ผสม มาลาไคต์กรีน หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต


แผลเปื่อย (Ulcer Disease)

โรคแปลเปื่อย โดย koikoito.com

โรคแผลเปื่อย (Ulcer Disease)ในช่วงแรกอาการจะไม่ค่อยแสดงออกมากเท่าไร แต่เชื้อจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่รู้ตัว สามารถพบได้หลายชนิด เช่น Aeromonas หรือ Pseudomonas โดยอาการที่เห็นได้ชัดจะมีแผลแดงที่ผิวหนัง หรือเป็นสีขาวขุ่น อาจจะลุกลามเป็นแผลลึก ลุกลามไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ จนบางตัวครีบหดหายไปจะทำให้ปลาตายในที่สุด ปลาที่เป็นโรคแผลเปื่อยจะมีอาการเซืองซึมและกินอาหารน้อยลงหรืออาจจะหยุดกินอาหารไปเลย หากแผลลุกลามอาจจะส่งผลให้อวัยวะภายในติดเชื้อได้ด้วย เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดเชื้อออกจากบ่อหลัก ใส่เบตาดีนเพื่อฆ่าเชื้อที่แผลโดยตรง ให้ยาปฏชีวะนะ โดยผสมลงในอาหารหรือละลายในน้ำ ปรับปรุงคุณภาพให้ได้ตามความเหมาะสม และเปลี่ยนน้ำบางส่วน


ตกเลือด (Hemorrhagic Septicemia)

โรคตกเลือด โดย koiphen.com

โรคตกเลือด (Hemorrhagic Septicemia) เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้กับปลาน้ำจืดทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นปลาทองหรือปลาคาร์ป มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียแกรมลบที่มีชื่อว่า Aeromonas hydrophila จะอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพต่ำ เชื้อโรคเยอะ ซึ่งการตกเลือดของปลาจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การตกเลือดแบบทั่วไป การตกเลือดแบบติดเชื้อ และการตกเลือดแบบเรื้อรัง โดยมีลำตัวตกเลือด ท้องบวมน้ำ เกล็ดตั้งพอง เนื้อแหว่ง ถ้าเป็นมากอาจจะมีแผลเน่าตามลำตัว ถ้าไม่รับรักษาอาจจะทำให้ปลาตายได้

วิธีการรักษา รักษาคุณภาพน้ำ ลดความเครียดของปลา ใช้ ออกซีเตตราไซคลิน หรือ อิริโธรมัยซิน ผสมในอาหาร


จุดแดง (Red Spot Disease)

โรคจุดแดง โดย koiphen.com

โรคจุดแดง (Red Spot Disease) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียหรือการบาดเจ็บ ซึ่งพบได้บ่อยในปลาคาร์ป โดยมักแสดงอาการเป็นจุดแดงบนผิวหนัง บริเวณที่ติดเชื้ออาจจะมีเลือดซึม อาจลุกลามเป็นแผลเปื่อยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของปลา ทำให้ปลาเซืองซึม ว่ายน้ำผิดปกติ หรือหยุดกินอาหารไปเลย และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ สาเหตุหลักเกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม Aeromonas และ Pseudomonas ที่เจริญเติบโตได้ในในน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลสะสม

วิธีการรักษา สามารถรักษาได้หลายวิธี ถ้าเป็นแผลเฉพาะที่สามารถใช้เบตาดีนลงที่แผลเพื่อฆ่าเชื้อได้เลย ใช้ด่างทับทิม หรือ ฟอร์มาลิน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับฆ่าเชื้อในน้ำ หรือถ้ามีอาการมากใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารให้ปลากิน


เห็บปลา (Fish Lice)

เห็บปลา โดย jbl.de

โรคเห็บปลา (Fish Lice) พบเห็นได้บนตัวปลาด้วยตาเปล่า สามารถใช้แหนบ หรือ มือดึงออกได้ เกิดจากปรสิต Argulus spp. ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู ต่าง ๆ มีความยาวตั้งแต่ 6 – 12 มิลลิเมตร เกาะแน่นบริเวณลำตัว ครีบ และหางปลา เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด จะเกาะดูเลือด กินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร ปลาที่มีเห็บปลาเกาะอยู่จะมีอาการว่ายน้ำอย่างกระวนกระวาย เอาตัวถูกับตู้หรือบ่อ ส่วนใหญ่เห็บปลามักจะมาจากปลาใหม่ แนะนำให้แยกปลาใหม่กักโรคไว้ก่อน แล้วค่อยลงบ่อใหญ่ จะช่วยลดการเกิดเห็บปลาและปรสิตชนิดอื่นๆได้

วิธีการรักษา ดูและรักษาบาอปลาให้สะอาด ใช้ไตรโคลฟอน (Trichlorfon) กำจัดปรสิต หรือ คอปเปอร์ซัลเฟต 60 ppm ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมงให้อากาศเต็มที่แล้วปล่อยลงบ่อเลี้ยง


หนอนสมอ (Anchor Worm)

หนอนสมอ โดย researchgate.net

โรคหนอนสมอ (Anchor Worm) เป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆของผู้เลี้ยงปลาคาร์ปหลาย ๆ ท่าน เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้ปลาของเราแล้ว ยังเป็นพาหะที่ทำให้ปลาคาร์ปของเราติดเชื้อแทรกซ้อนต่าง ๆ และส่งผลลบต่อสุขภาพโดยรวมของปลาคาร์ปได้อีกด้วย โรคหนอนสมอ (Anchor Worm) เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตชนิดหนึ่งในกลุ่ม Lernaea spp. เป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยในปลาคาร์ปและปลาชนิดอื่นๆ มีลักษณะคล้ายกับเส้นด้าย ลำตัวบางยาว ส่วนหัวจะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังเพื่อดูดเลือดและสารอาหาร ทำให้บริเวณนั้น ๆ มีบาดแผลและเลือดซึมอยู่ตลอดเวลา ดูเหมือนรอยช้ำ และจะมีอาการซึมลง ไม่กินอาหาร ปลาอ่อนแรงและอาจจะติดเชื้อแทรกซ้อน

วิธีการรักษา ใช้แหนบดึงหนอนสมอออกจากตัวปลาอย่างระมัดระวัง ทำความสะอาดแผลด้วยเบตาดีน ใช้ยาที่กำจัดปรสิตภายในน้ำ หากปลาที่มีแผลเปื่อยหรือติดเชื้อแทรกซ้อน ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีตราไซคลิน ผสมในอาหาร


พยาธิภายใน (Internal Parasites)

โรคพยาธิภายในที่ทำให้ร่างกายของปลาผิดปกติ โดย marinescience

โรคพยาธิใน (Internal Parasites) ในปลาคาร์ป เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของพยาธิที่อยู่ระภายในระบบทางเดินอาหารหรืออวัยวะภายใน เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ตับ หรือ ไต พยาธิเหล่านี้อาจะเป็นได้ทั้งโปรโตซัว หรือ พยาธิหนอนตัวกลม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของปลา หากไม่ได้รับการรักษาอาจะทำให้ปลาอ่อนแอลงและตายได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดพยาธิในมีหลายสาเหตุด้วยหัน ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนในอาหาร การติดเชื้อจากน้ำ การติดเชื้อจากปลาใหม่ ในอาการเบื้องต้นของปลาคาร์ปที่ติดพยาธิในจะมีอาการเบื่ออาหาร ผอมลงอย่างเห็นได้ชัด ท้องบวมผิดปกติ รุนแรงกว่านั้นอาจจะว่ายน้ำผิดปกติ อุจจาระยาวและขุ่นคล้ายเส้นเมือก

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดพยาธิออกจากปลาตัวอื่น ๆ เปลี่ยนน้ำบางส่วนและทำความสะอาดบ่อ ใช้ยาถ่ายพยาธิ เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือ พราเซควอนเทล (Praziquantel) โดยผสมในอาหารปลา


ท้องบวม (Dropsy)

ท้องบวม โดย water.co.id

ท้องบวม (Dropsy) มองจากภายนอกผ่าน ๆ อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าปลาของเราตั้งท้อง เพราะส่วนท้องจะบวมออกมา แต่จริง ๆ แล้วเกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายของปลา มักจะเกี่ยวข้องกับการสะสมของเหลวในช่องท้อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Aeromonas และ Pseudomonas เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบภายในของปลา ตับและไตจะทำงานผิดปกติทำให้ปลาไม่สามารถคุมของเหลวในตัวได้ แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้ปลาคาร์ปของเราเป็นโรคท้องบวมได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของน้ำที่มีแอมโมเนียไนไตรต์สูง อาหารที่ปนเปื้อนหรือขาดคุณค่าทางโภชนาการ หรือ การเลี้ยงปลาที่หนาแน่นจนเกินไปก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

วิธีการรักษา แยกปลาที่ติดเชื้อออกจากบ่อหลักก่อน แล้วคำนวณปริมาตรน้ำในบ่อที่แยกออกมา ในระหว่างรักษาควรงดอาหารเพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการขับถ่าย จากนั้นให้พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อแบบแช่หรือแบบฉีด หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาสัตวแพทย์


เหงือกเปื่อย (Gill Rot)

เหงือกเปื่อย โดย hanoverkoifarms.com

ช่องเหงือกเปื่อย (Gill Rot) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รา หรือปรสิตในบริเวณเหงือกปลา Flavobacterium columnare และ Aeromonas spp. เป็นตัวการหลักที่ทำให้เหงือกอักเสบและเปื่อย รวมไปถึงการติดเชื้อราและปรสิต Saprolegnia, Dactylogyrus ทำให้ประสิทธิภาพในการหายใจลดลง และอาจทำให้ปลาขาดออกซิเจนและเสียชีวิต อาการหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ปลาอ่อนแรง เหงือกเปื่อย หายใจผิดปกติปลาอาจจะขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำบ่อยครั้ง บริเวณเหงือกอาจจะมีเมือกหรือคราบสีขาวสะสม

วิธีการรักษา ระวังคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ใช้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น ออกซีเตตราไซคลิน (Oxytetracycline) หรือ ซัลฟาไดมิดีน (Sulfadimidine) หรือยาฆ่าเชื้อปรสิตต่าง ๆ


เมื่อรับรู้ถึงอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากตัวปลาคาร์ป การรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่าง ๆ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของปลา เมื่อพบปลาคาร์ปที่ติดเชื้อ ในขั้นตอนแรกแนะนำให้แยกปลาที่ติดเชื้อออกมาจากบ่อหลักก่อน เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่นๆในบ่อ จากนั้นค่อยรักษาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลาคาร์ปควรเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด เพราะน้ำที่สกปรกไม่ได้คุณภาพจะเป็นตัวนำเชื้อโรคมาสู่ตัวปลาคาร์ปของเรา และทำให้ปลาคาร์ปติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตได้ หากปลามีอาการผิดปกติ ควรรักษาโดยทันทีเพื่อป้องกันความรุนแรงและการแพร่กระจายของโรค

ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมในการรักษา ให้สอบถามไปยังสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์น้ำใกล้บ้าน หรือ LINE : @koikoito

Tags :